ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยในปี 2566



ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยในปี 2566
ในปี 2566 นี้ ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่กดดันเศรษฐกิจหลายด้าน แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวกที่คอยช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงปีนี้ ซึ่งเรื่องหลักที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยคือสภาวะเศรษฐกิจโลก และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitical tension โดยช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจของไทยค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ นับจากสิ้นสุดการใช้นโยบายการ Lockdown เนื่องมาจากแพร่การระบาดของ Covid-19 ซึ่งธุรกิจต่างๆ ได้กลับมาเปิดให้บริการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ 


ในปี 2563 ประเทศไทยมี GDP (Gross Domestic Productลดลงมากกว่า 6% และในปี 2564 และปี 2565 จะเห็นได้ว่ามีการขยายตัวของ GDP ของประเทศจาก 1.5% ไปเป็น 3.2% ตามลำดับ ส่วนในปี 2566 นี้ GDP ของประเทศถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตอยู่ที่ระดับ 3.5% ซึ่งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องนี้เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน เงินรายได้จากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ การส่งออกสินค้าที่มีการขยายตัวโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน ตลอดจนการลงทุนของบริษัทเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการย้ายฐานของภาคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจากประเทศจีนมาสู่ประเทศไทย 

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ภาวะการถดถอยของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ ราคาสินค้าที่แพงขึ้นเนื่องมาจากภาวะเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหล่านี้เป็นปัจจัยลบที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ โดยในปี 2566 ภาคการส่งออกของไทยถูกการคาดการณ์ว่าจะต้องเผชิญกับสภาวะการหดตัว และจากการคาดการณ์ของ IMF (Inter Monetary Fund) แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกา (US) และยุโรป (EU) จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในสัดส่วนที่ต่ำมาก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกของประเทศไทย เนื่องจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปนั้นถือเป็นผู้นำเข้าหลัก ที่นำเข้าสินค้าจากประเทศไทย 


สำหรับสหรัฐอเมริกา การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (The Federal Reserve) อย่างรุนแรงในปี 2565 ที่ผ่านมาเพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ จะยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องต่อไปในปี 2566 นี้ โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาช่วงปลายปี 2566 อาจสูงมากกว่า 5% ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับเมื่อต้นปี 2565 พบว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ระดับ 0.25% เท่านั้น ผลของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นนี้จะสงผลทำให้อุปสงค์ (Demand) ของประเทศสหรัฐอเมริกาลดลง 

สำหรับยุโรป ราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักของโรงไฟฟ้าและการทำความร้อนมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้นนี้ยังเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูง และจำกัดกำลังในการซื้อของผู้บริโภคอีกด้วย ถึงแม้ว่าราคาของก๊าซธรรมชาติถูกคาดการณ์ว่าได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วก็ตาม แต่ราคาของก๊าซธรรมชาติในปี 2566 จะยังคงสูงต่อไป สิ่งนี้สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจของยุโรปอย่างมาก 

สำหรับความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่าง Ukraine และ Russia จะยังคงดำเนินต่อไป ดังนั้นราคาของพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องจะมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) อาจเกิดการหยุดชะงัก (Disrupt) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อขายน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) และเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าราคาของก๊าซธรรมชาติและน้ำมันได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วก็ตาม แต่ราคาของปิโตเลียมในปี 2566 จะยังคงสูงต่อไปเนื่องมาจากการคว่ำบาตรการซื้อขายน้ำมันจากประเทศ Russia อย่างไรก็ตาม หากมีการลุกลามของสงครามใน Ukraine ขึ้น นั่นจะส่งผลให้ราคาพลังงานและราคาค่าขนส่งดีดตัวสูงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง 

สำหรับการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์นั้น จะยังคงเป็นปัญหาไปจนถึงปี 2567 เนื่องจากสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการห้ามส่งออกชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ไปยังประเทศจีน ซึ่งบางส่วนจีนยังไม่สามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นเองได้ และการสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใหม่นั้น จะต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้าน US ดอลลาร์ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปี จึงจะสร้างเสร็จ โดยโรงงานดังกล่าวจะตั้งอยู่ภายนอกประเทศจีน 



สาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือปัจจัยด้านลบที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องอาศัยการนำเข้าพลังงานและเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในยานยนต์และการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 

 ด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายในปี 2566 นี้ จะยังคงสูงขึ้นต่อไป โดยธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (Bank of Thailand) ได้ทำนายอัตราเงินเฟ้อ (Headline inflation) ประจำปี 2566 ว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.5% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 ที่มีค่าราว 6.5% สำหรับการควบคุมราคาต่างๆ โดยผู้ผลิต หรือการช่วยเหลือจากภาครัฐผ่านการให้เงินอย่างเช่นในปี 2565 นั้น จะค่อยๆ หมดไปตามการคาดการณ์ที่ว่ากำลังการซื้อภายในประเทศในปี 2566 จะฟื้นตัว โดยต้นทุนทางด้านราคาเช่น การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 5% นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 จะค่อยๆ ส่งผ่านจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภคอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่น้ำมันดีเซลมีแนวโน้มที่จะตรึงราคาไว้ที่ 35 บาทต่อลิตร

ด้านอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศในปี 2566 นี้ จะยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อไป ตามการขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการปรับขึ้นจากต้นปีที่ระดับ 0.5% ไปเป็น 1.25% ในช่วงสิ้นปี นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 2% ณ ช่วงสิ้นปี 2566 ซึ่งจะสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและปริมาณความต้องการภายในประเทศของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้จะนำไปสู่การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจากข้อมูลที่ผ่านมาเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 1% ธนาคารพาณิชย์จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นประมาณ 0.6% หลังจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วประมาณ 1 ถึง 2 เดือน 


การเปิดประเทศของจีนเป็นความหวังของประเทศไทยต่อการส่งออกสินค้าและการกลับมาของนักท่องเที่ยว จีนยังถือเป็นตลาดการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย การลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าของประเทศไทยในปี 2565 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบาย Zero covid ของประเทศจีน และนักท่องเที่ยวจากจีนไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศได้อย่างอิสระ แต่อย่างไรก็ตามประเทศจีนมีการผ่อนคลายนโยบาย Zero covid ภายในประเทศแล้ว และคาดว่าจะอนุญาตให้มีเดินทางระหว่างประเทศได้ในช่วงเดือนเมษายน 2566 นี้ ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย แต่ถึงอย่างไรก็ตามภาคธุรกิจของไทยก็ไม่ควรตั้งความหวังไว้มากนัก เนื่องมาจากความเสี่ยงของการกลับมาแพร่ระบาดของ Covid-19 อีกครั้ง ในช่วง 2 ถึง 3 เดือนแรกที่มีการใช้นโยบายผ่อนปรน และอาจจะนำไปสู่สาเหตุการชะงักของภาคการผลิตภายในประเทศจีน ซึ่งเป็นผลมาจากการป่วยและการกักตัวของประชาชน 

จากสถานการณ์ภายในประเทศของจีน ตลอดจนความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้บริษัทข้ามชาติจำนวนมากได้ย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยถือว่าเป็นผู้รับการย้ายฐานการผลิตรายใหญ่ลำดับที่ 2 จากจีนมาสู่ภูมิภาคนี้ นับตั้งแต่เริ่มต้นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในปี 2561 โดยมีประเทศเวียดนามเป็นผู้รับการย้ายฐานการผลิตจากจีนลำดับที่ 1 ซึ่งบริษัททั่วไปนั้นจะย้ายฐานการผลิตมาเพื่อผลิตสินค้าของตนเพื่อการส่งออก และในขณะเดียวกันจะยังคงการผลิตในประเทศจีนไว้เพื่อรองรับกับตลาดภายในประเทศ สำหรับการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นภาคการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจำพวกชิ้นส่วนยานยนต์เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โพโตเคมีคัล อินฟอร์เมชั่น-เทคโนโลยี และดาต้า-เซ็นเตอร์ ซึ่งแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องอย่างที่ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์จะยังคงอยู่ต่อไปในอนาคต ดังนั้นเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ประเทศไทยจำเป็นต้องกำหนดทิศทางบนพื้นฐานความเข้มแข็งของประเทศในฐานะที่เป็นผู้นำด้านการให้บริการทางด้าน Digital-Structure ภายในภูมิภาค ตลอดจนบนพื้นฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยคาร์บอนต่ำ 


ซึ่งจากทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ปี 2566 นี้ อาจเป็นปีของความไม่แน่นอนที่มีปัจจัยเชิงลบหลายด้านเช่น ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการเปิดประเทศของจีน อย่างที่นโยบาย Zero-covid สามารถนำกลับมาใช้อีกครั้งถ้าอัตราการเสียชีวิตของประชากรจาก Covid-19 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกจากนี้การพัฒนาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้นั้น อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อราคาพลังงานที่อาจปรับตัวสูงขึ้น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่เลวร้ายกว่าเดิม และตลอดจนสภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง



เรียบเรียงโดย: LivingOnTheEgg
ติดต่อ: Facebook
ที่มา: Bangkok Post

Comments